แนะนำหนังสือ “ตำนาน”

อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

 

 

ตำนาน ถือเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง ตำนานมีอยู่หลากหลายลักษณะด้วยกัน ตั้งแต่ตำนานที่อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ตำนานเกี่ยวกับสถานที่ ตำนานเกี่ยวกับที่มาของเมืองหรืออาณาจักร รวมทั้งตำนานทางพุทธศาสนา

 

หนังสือรวมบทความเรื่อง ตำนาน ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่เชิญชวนให้เราตั้งคำถาม ขบคิด และคำนึงถึงปัญหาสำคัญของการอ่านหรือการศึกษาตำนาน ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวเกริ่นไว้ในคำนำนั่นคือ การที่ผู้ศึกษาหรือใช้ประโยชน์จากตำนานเข้าไมถึ่งสาระที่แท้จริงในตำนานเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดการตีความหรือใช้ตำนานอย่างไม่ถูกต้อง เช่น นักวิชาการบางคนมองว่าตำนานเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่จึงไม่น่าเชื่อถือ ขาดหลักฐานที่เป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นเรื่องไร้สาระจนไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ได้ หรือบางครั้ง ตำนานก็ถูกนำไปใช้อย่าง “เกินคุณค่า” กล่าวคือ นำเรื่องราวในตำนานมาเป็นข้อมูลเพื่อแสดงเรื่องราวในอดีตอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยมิได้ศึกษาทำความเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้เสียก่อน

 

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร จึงเสนอความคิดให้ทำความเข้าใจว่า ตำนานของไทยไม่ว่าจากท้องถิ่นใด เป็นสิ่งที่บันทึกและถ่ายทอด “ความรู้สึกนึกคิด” ของคนโบราณในช่วงเวลาที่ตำนานเรื่องนั้นได้รับการแต่งหรือคัดลอกบอกเล่าสืบต่อกันมา และการจะเห็น “ความรู้สึกนึกคิด” เหล่านั้นได้ ผู้อ่านจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์การอ่านหรือมีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับตำนานเรื่องต่างๆ พงศาวดาร คัมภีร์ คำสอน และความเชื่อทางพุทธศาสนา จึงจะสามารถท ความเข้าใจต นานเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างถ่องแท้ หรือไม่คลาดจากความเป็นจริงมากจนเกินไป เมื่ออ่านตำนานแล้ว ผู้อ่านต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นเปลือกของตำนาน ผู้อ่านอาจต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏในตำนานอาจไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” เพราะเนื้อความในตำนานเรื่องหนึ่งอาจแย้งกับอีกเรื่องหนึ่งเมื่อกล่าวถึงบุคคลหรือเหตุการณ์เดียวกัน แต่ถ้าหากอ่านอย่างวิเคราะห์ก็จะเห็นว่าตำนานนั้นบันทึก “ความรู้สึกนึกคิด” อะไรของผู้เขียน รวมทั้งบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยที่แต่งตำนานเรื่องนั้นอย่างไร

 

ในหนังสือรวมบทความเล่มนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางที่ใช้ในการอ่านและทำความเข้าใจตำนานผ่านบทความทั้งหมด 9 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้เขียนตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2538 ได้แก่ บทความเรื่อง ตำนานเรื่องสิงหนวัติฉบับวัดศรีโคมคำ พะเยา เรื่อง ความหมายของตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุง เรื่อง เปลือกตำนานว่าด้วยพระร่วงเป็นชายชู้ เรื่อง พระเจ้าพรหมในตำนานของล้านนา เรื่อง ตำนานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 เรื่อง ตำนานต้นโพธิ์ เรื่อง ตำนานอุรังคธาตุ (พระธาตุพนม) เรื่อง ตำนานพยากรณ์ที่ผิดพลาด และเรื่อง ตำนานพระธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช

 

ตำนานที่กล่าวถึงในบทความทั้ง 9 เรื่องนี้มีเนื้อหาและที่มาแตกต่างหลากหลาย มีทั้งตำนานเมือง ตำนานเกี่ยวกับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุในพุทธศาสนา ได้แก่ พระธาตุ ต้นโพธิ์ และพระพุทธรูป ตำนานเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ รวมทั้งตำนานต่างๆ ที่พบในเอกสารประวัติศาสตร์เช่นพระราชพงศาวดาร

 

ในแต่ละบทความ ผู้เขียนได้พยายามวิเคราะห์และอธิบายให้เห็นว่า ตำนานเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคัมภีร์ คำสอน และคติความเชื่อทางพุทธศาสนา เช่น ความเจริญความเสื่อมของบ้านเมือง กัปกัลป์พุทธันดรกับต้นวงศ์กษัตริย์ ความคิดความเชื่อของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องการนับปีศักราช ไปจนถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์หรือการเมืองระหว่างอาณาจักรหรือเมืองโบราณต่างๆ เช่น ในบทความเรื่อง ความหมายของตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุง ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นว่า การแสดงสิทธิธรรมของกษัตริย์ล้านนา ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องสืบสายโลหิตจากพระเจ้าสมมติราชตั้งแต่คราวปฐมกัป ดังเช่นที่ปรากฏเป็นขนบในพงศาวดารของภาคกลาง ซึ่งทำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมของตนเองหรือโต้แย้งกันโดยใช้คติความเชื่อที่มีที่มาจากคัมภีร์พุทธศาสนาอย่างไร

 

ตำนานบางตำนาน เราอาจไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏในตำนานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่เมื่ออ่านวิเคราะห์ตำนานเรื่องนั้นดูประกอบกับการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการเมืองของอาณาจักรโบราณ ก็อาจจะทำให้เข้าใจเหตุผลของการเขียนตำนานและเรื่องราวนั้นๆ ได้ เช่น ในบทความเรื่อง เปลือกตำนานว่าด้วยพระร่วงเป็นชายชู้ ซึ่งถือว่าเป็นเกร็ดของเรื่องราวในตำนานล้านนา ผู้เขียนได้วิเคราะห์อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย สุโขทัย และพะเยา ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของตำนานที่ว่าพระร่วงแห่งสุโขทัยเป็นชู้กับชายาพระเจ้างำเมืองแห่งพะเยา และพระเจ้ามังรายแห่งเชียงใหม่-เชียงรายต้องเป็นผู้ตัดสินความ

 

ในบทความหลายเรื่อง ผู้เขียนชี้ให้เห็น “ข้อจำกัด” หรือ “อุปสรรค” ในการอ่านและทำความเข้าใจตำนาน ซึ่งผู้อ่านควรจะต้องคำนึงถึง เช่น ความชำรุดเสียหายของเอกสาร ความผิดพลาดของข้อความหรือชื่อเรื่องซึ่งเกิดจากการคัดลอกหรือพิมพ์ซ้ำ ความเก่าแก่ของภาษาหรือเนื้อหาที่เขียนอย่างวกวน ไปจนถึงการอ่านตำนานที่ผ่านการบอกเล่าด้วยคนๆ หนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้ความอุตสาหะ ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าหาความหมายของถ้อยคำหรือค้นคว้าแหล่งข้อมูลหลักฐานอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจหรือตีความตำนานเรื่องนั้นๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด เช่น ในบทความเรื่อง ตำนานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 แสดงให้เห็นว่าการอ่านตำนานที่ถ่ายทอดโดยวันวลิต ซึ่งเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งนั้น จะต้องใช้ความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับตำนานและประวัติศาสตร์ เพื่อตรวจสอบหรือสืบสวนว่าตำนานเหล่านั้นตรงกับพงศาวดารหรือตำนานของไทยเรื่องอะไร และมีข้อผันแปรไปอย่างไรบ้างหรือไม่ ในขณะเดียวกัน การอ่านข้อเขียนของวันวลิต อาจจะทำให้เราได้ทราบเรื่องบางเรื่องที่ไม่เป็นที่เปิดเผยชัดในเอกสารอื่นๆ ก็เป็นได้

 

หนังสือรวมบทความเรื่อง ตำนาน ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์เล่มนี้จึงมีประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจ ในฐานะที่เป็นหนังสือที่ไม่เพียงแต่เสนอแนวทางในการอ่านตำนานอย่างเป็นวิชาการ ด้วยความ “ระมัดระวัง” อันกอปรขึ้นจากความรู้ที่เป็นพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรม ความคิดความเชื่ออย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ยังนำเสนอทำให้ผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์และเข้าใจ “สาระ” หรือ “ความรู้สึกนึกคิด” ของคนโบราณในตำนานของไทยที่มีอยู่อย่างหลากหลายอีกด้วย

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา วารสารไทยศึกษา ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2556 – มกราคม 2557) หน้า 281-284)

 

 

Download