อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
หนังสือ “ตำนานพระพุทธรูปล้านนา: พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น” เล่มนี้ตีพิมพ์มาจากผลงานวิจัยที่ใช้ชื่อเรื่องเดียวกันของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในชุดโครงการวิจัย “วรรณกรรมล้านนา: ลักษณะเด่นภูมิปัญญา และคุณค่า” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าโครงการ งานวิจัยดังกล่าวผู้วิจัยได้รวบรวมค้นคว้าข้อมูล ตลอดจนวิเคราะห์อย่างละเอียดลึกซึ้ง จนส่งผลให้งานวิจัยเล่มนี้ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2553
ความดีเด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ การรวบรวมตำนานพระพุทธรูปสำคัญในดินแดนล้านนา อันประกอบไปด้วย ตำนานพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน ทั้งที่เป็นตำนานของกลุ่มชนชาวล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมตำนานพระพุทธรูปไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตำนานของพระพุทธรูปองค์ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ พระแก้วดอนเต้า วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง และตำนานของพระพุทธรูปองค์ที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนักสำหรับคนในท้องถิ่นอื่นๆ เช่น พระเจ้าบอกเกลือ วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน พราอะลอง (ภาษาไทใหญ่ แปลว่าพระพุทธรูปทรงเครื่อง) วัดหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพรวมของตำนานพระพุทธรูปล้านนา อันมีทั้งลักษณะร่วมในความเป็นวัฒนธรรมล้านนา และลักษณะเฉพาะของแต่ละเรื่อง แต่ละวัตถุประสงค์การสื่อความได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่ตำนานพระพุทธรูปล้านนาจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจศึกษาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลในทางสังคมวัฒนธรรมอยู่แล้วเท่านั้น หากผู้เขียนซึ่งเป็น “นักคติชน” ก็ยังสามารถเจียระไนข้อมูลให้เห็น “เหลี่ยมมุม” ที่น่าสนใจอันแฝงเร้นอยู่ในเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ประเภทดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้เขียนใช้วิธีวิทยาการศึกษาอนุภาค การศึกษาบทบาทหน้าที่ของคติชน ตลอดจนวิธีคิดแบบ “คู่ตรงข้าม” (binary opposition) ที่ปรากฏอยู่อย่างโดดเด่นในตำนานพระพุทธรูปแต่ละองค์ในฐานะ “สัญลักษณ์” ซึ่งสื่อความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชนเจ้าของตำนาน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นคนในชุมชนที่พระพุทธรูปนั้นๆ ประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตำนานที่มีเนื้อหาโดดเด่นชัดเจน
สำหรับวิธีวิทยาการศึกษาอนุภาค ผู้เขียนเริ่มต้นจากการวิเคราะห์อิริยาบทของพระพุทธรูปซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียง “ปางพระพุทธรูป”ตามรายละเอียดในเรื่องเล่าประเภทพุทธประวัติเท่านั้น แต่กลับแฝงความคิดเชิงสังคมวัฒนธรรมแบบล้านนาไว้ได้อย่างแนบเนียน กล่าวคือ อิริยาบทนั่ง โดยเฉพาะ ตำนานพระเจ้านั่งดิน วัดพระเจ้านั่งดิน จังหวัดพะเยา สื่อความหมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินล้านนา รวมถึงการกลมกลืนความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาจนกลาย “พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน” อิริยาบทยืน มักเชื่อมโยงกับความคิดความเชื่อที่ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาในดินแดนล้านนา แล้วให้พุทธพยากรณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองในแถบนี้ไว้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ซึ่งตำนานประเภทนี้หลายเรื่องที่สัมพันธ์กับการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบทยืน อาทิ พระยืน วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พะพุทธเจ้าประทับยืนทอดพระเนตรแหล่งน้ำ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธรูปกับความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (fertility)
ส่วนพระพุทธรูปยืน 4 ทิศ นอกจากจะมาจากคตเรื่องพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ไปแล้ว 4 พระองค์ในภัทรกัปป์นี้ แต่ยังแฝงความคิดเรื่องการบูชา “ท้าวทั้งสี่” หรือท้าวจตุโลกบาลในวัฒนธรรมล้านนา อิริยาบทเดิน แม้ไม่ค่อยปรากฏพระพุทธรูปในอิริยาบทนี้โดยตรง แต่ตำนานพระพุทธรูป เช่น ตำนานพระเจ้าวัดไผ่เหลือง จังหวัดน่าน ตำนานพระนอนถ้ำดับเตา ถ้ำหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนตำนานพระธาตุหลายตำนานได้กล่าวถึงการที่พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดชนกลุ่มต่างๆ ในดินแดนล้านนา อันสื่อถึงการที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนนี้ และร้อยรัดกลุ่มชนทุกชาติพันธุ์ ทุกฐานะ ไว้ภายใต้ความเชื่อเดียวกัน ตลอดจนฉายภาพผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน อิริยาบทกิน โดยเฉพาะตำนานพระเจ้าบอกเกลือ จังหวัดลำพูน สะท้อนร่องรอยความคิดความเชื่อเรื่อง “อาหารกับอำนาจ” และ “สีกับอำนาจ”ผ่านอนุภาค “เกลือ” และ “สีแดง”อันมีความสัมพันธ์ในพิธีกรรมเลี้ยงผีเจ้านายในสังคมล้านนาแต่โบราณ อิริยาบทนอน ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ที่มีพระพุทธรูปในอิริยาบทนอน เช่น พระนอนม่อนช้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน นอกจากจะเป็นชุมชนมาแต่เดิม เป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ หรือเชื่อว่ามีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่แล้ว บางแห่งยังเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับที่อยู่ของผีอารักษ์เดิม ทำให้สามารถเชื่อมโยงความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปเข้ากับความคิดเรื่องอารักษ์หรือผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงปกป้องรักษาที่นาในวัฒนธรรมล้านนาได้ อริยาบทเหาะ เช่น ตำนานพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ยังเป็นร่องรอยความคิดความเชื่อเรื่อง “ผู้มีบุญ” ที่เหาะลงมาจากสวรรค์ที่มักปรากฏในตำนานล้านนา
นอกเหนือจากอิริยาบทของพระพุทธรูปแล้ว ผู้เขียนยังวิเคราะห์พุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่ปรากฏผ่านตำนานในฐานะอนุภาคสำคัญ อันได้แก่ พระรัศมี ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการแสดงพระบุญญาธิการของพระพุทธองค์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในตำนาน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แฝงความคิดเรื่องบุญญาบารมีของชนชั้นปกครองผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นั้นๆ พระเศียร สัมพันธ์กับความคิดเรื่องน้ำและความอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องกับการพบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระเศียรพระพุทธรูปบางองค์ อาทิ พระเจ้าอุ่นเมือง วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน และลักษณะเฉพาะถิ่นของพระพุทธรูปล้านนาที่มักมีพระเศียรคล้ายผลน้ำเต้า ซึ่งเป็นพืชสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมไท-ไทย พระพักตร์ สื่อถึงความคิดเรื่องความงามอันเป็นอุดมคติ บริสุทธิ์และสูงส่ง พ้นจาก “ความเป็นชาย-ความเป็นหญิง” ที่เป็นคู่ตรงข้ามที่พบได้บ่อยในตำนานศาสนา พระเนตร โดยเฉพาะตำนานพระเจ้าตาเขียว วัดบ้านเหล่า จังหวัดลำพูน ยังมีร่องรอยความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ปรากฏอยู่ ส่วนพระวรกาย มีที่มาจากความคิดเรื่องพุทธลักษณะอันงดงามยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเช่นในกรณีของพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา
นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ประยุกต์วิธีวิทยาการศึกษาอนุภาคและการศึกษาบทบาทหน้าที่ทางคติชนเข้าด้วยกัน ด้วยการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของตำนานพระพุทธรูปผ่าน “หน้าที่ของพระพุทธรูป” และอิทธิฤทธิ์ที่ปรากฏในตำนาน ในประเด็นเรื่องหน้าที่ของพระพุทธรูปนั้น พระมิ่งเมือง เช่น พระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงถึงทั้งร่องรอยและการปรับประยุกต์ความคิดเรื่อง “มิ่งเมือง/หมายเมือง” อันเป็นความคิดความเชื่อเดิมของกลุ่มชนไทย-ไท เข้ากับความคิดความเชื่อทางพระพุทธศาสนาซึ่งได้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “หลัก”ของบ้านเมืองแว่นแคว้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ “ยกระดับ”ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่านี้ให้กลืนกลายกับพุทธศาสนา อาทิ พระนอนหนองผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ความคิดเรื่องพระมิ่งเมืองยังนำไปสู่การจัดสร้าง “พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง”ตามคตินิยมสมัยใหม่ ในกรณีของพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนี วัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่ รวมถึงยังคงเป็นร่องรอยของการให้ความสำคัญกับฝนฟ้าและความอุดมสมบูรณ์ที่สัมพันธ์กับความเจริญของเมือง พระประจำเจ้านาย เช่น พระค่าคิงเม็งราย วัดพระเจ้าเม็งราย จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนความคิดเรื่องขวัญ ความพยายามในการประกอบสร้างตัวตนผ่านวัตถุศักดิ์สิทธิ์ และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับพุทธศาสนาที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่ง พระบรรจุพระบรมธาตุ เป็นการสร้างความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องระหว่างวัตถุที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก อันได้แก่ พระบรมธาตุ กับวัตถุที่เป็นรูปธรรม อันได้แก่พระพุทธรูป ตลอดจนความ คิดความเชื่อเรื่องขวัญที่สัมพันธ์กับตำแหน่งการบรรจุพระบรมธาตุภายในพระพุทธรูปแต่ละองค์ พระครอบพระพุทธบาท เป็นทั้งรูปธรรมของการสร้างอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ตามความคิดคู่ตรงข้ามระหว่างโลกสามัญกับโลกศักดิ์สิทธิ์ และหากพิจารณาในฐานะที่รอยพระพุทธบาทเป็น “แหล่งกักเก็บน้ำ”พระพุทธรูปคร่อมรอยพระพุทธบาทยังสะท้อนถึง “ตัวตน”ของพระพุทธเจ้าในฐานะ “ผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์”ในคติแบบล้านนา พระบันดาลน้ำบันดาลฝน เป็นการผสมผสานความคิดความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความคิดเรื่องผี (ผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์) และคติทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน พระทำนายและพยากรณ์ แสดงความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นระหว่างพระพุทธรูปกับชุมชน เนื่องด้วยพุทธศาสนาเองก็มีบทบาทในการควบคุมสังคม
ส่วนในประเด็นเรื่อง ที่มา สล่า (ช่าง) และ สมญานาม ของพระพุทธรูป ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นความหลากหลายของที่มาของพระพุทธรูปตามตำนานว่า ในแง่หนึ่งตำนานอาจกล่าวถึงตำนานที่เล่าว่าพระพุทธรูปมาจากลังกา ตัวอย่างที่สำคัญก็เช่นพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความคิดเรื่อง “ความบริสุทธิ์แท้จริง” (authenticity) ของ “พระพุทธศาสนาสายตรง” จากลังกา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สล่าพื้นบ้านก็สามารถรังสรรค์พระพุทธรูป “ของล้านนา”ได้เช่นเดียวกัน ในแง่นี้ตำนานที่มาของพระพุทธรูปและเรื่องเล่าเกี่ยวกับสล่าผู้สร้างพระพุทธรูปจึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงทางพุทธศาสนา และความรุ่มรวยทางอารยธรรม-
ศีลธรรม ของดินแดนล้านนา
อนึ่ง หลายตำนานยังกล่าวถึงพระพุทธรูปที่ไม่สามารถสร้างสำเร็จได้โดยฝีมือมนุษย์ พระอินทร์จึงต้องจำแลงเป็นสล่ามาเพื่อช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ตำนานลักษณะนี้เป็นทั้งความพยายามในการอธิบายว่า เหตุใดพระพุทธรูปองค์ที่ถูกกล่าวถึงในตำนานจึงมีพุทธลักษณะงดงามเป็นพิเศษ และความพยายามในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระพุทธรูปในฐานะ “วัตถุศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งสร้างโดย “สิ่งศักดิ์สิทธิ์"
ยิ่งไปกว่านั้น ในประเด็นเรื่องการตั้งสมญานามให้แก่พระพุทธรูป ผู้เขียนยังพิจารณาว่าความคิดเรื่องความศักด์สิทธิ์ของพระพุทธรูป รวมถึงการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับพุทธศาสนา ยังส่งผลต่อการตั้งสมญานามให้มี “ลักษณะเฉพาะ” พระพุทธรูปองค์หนึ่งๆ จึงแตกต่างจากองค์อื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นเสมือน “เทพเจ้าท้องถิ่น”สำหรับกลุ่มชนที่เคารพบูชาพระพุทธรูปองค์นั้นๆ
ในท้ายที่สุด ผู้เขียนได้ประยุกต์การศึกษาบทบาทหน้าที่ของคติชนเข้ากับแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ของชนชาติไท ของเอ็ดมันด์ อาร์ ลีช (Edmond R. Leach) ในการศึกษาบทบาทหน้าที่ของตำนานพระพุทธรูปล้านนา เพื่อให้เห็นถึง “พลัง”ของปัญญาความเชื่อที่ปรากฏผ่านตำนานพระพุทธรูปที่มีความสำคัญต่อ “ความเป็นท้องถิ่น” ของสังคมล้านนา โดยชี้ให้เห็นว่าตำนานพระพุทธรูปบางตำนาน เช่น ตำนานพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา ตำนานพระเสตังมณี วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกร่องรอยการเคลื่อนย้ายและภูมิปัญญาการเลือกทำเลที่ตั้งชุมชนจาก “แหล่งน้ำ”เป็นสำคัญ รวมถึงสะท้อนวีถีชีวิตในระบบ “เจ้าฟ้า”ผ่านตำนานที่กล่าวถึงกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธรูปในประการต่างๆ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพยายาม “ถอดรหัส” ทัศนคติที่คนล้านนามีต่อพุทธศาสนา ต่อสังคม และต่อชีวิต กล่าวคือ พุทธศาสนาแบบล้านนาที่สะท้อนผ่านตำนานพระพุทธรูปนั้น แน่นอนว่าย่อมมีลักษณะเป็น “พุทธศาสนาแบบไทย” ที่ดำรงอยู่ควบคู่ไปกับความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความเชื่อเรื่องผี ตลอดจนมีความเชื่อเรื่อง “พหุพุทธะ” ทั้งนี้ทั้งนั้นชาวล้านนายังมีทัศนคติว่า พระพุทธรูปคือตัวแทนของพระพุทธเจ้าในแง่ “ร่างกาย” นำมาสู่ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติบูชาพระพุทธรูปเสมือนหนึ่งมีชีวิต และทัศนคติเรื่องเพศสภาวะบนพื้นฐานของระบบคิดแบบคู่ตรงข้าม คือ “เพศชาย-โลกุตตระ” ที่ตรงกันข้ามกับ “เพศหญิง-โลกียะ” ที่สังเคราะห์ได้จากบทบาทตัวละครในตำนานพระพุทธรูปอีกด้วย
งานวิจัยเรื่องนี้จึงนับได้ว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในแวดวงไทยศึกษา เพราะไม่เพียงจะให้ความรู้ และแนวทางการวิเคราะห์แก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์งานวิจัยต่อไปได้ในอนาคต
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 125-131)