ศานติ ภักดีคำ
เนื่องในโอกาสอายุ 96 ปี ของพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนและคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดงานบำเพ็ญกุศล ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2555 และได้จัดพิมพ์หนังสือพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์เป็นที่ระลึกในงานนี้
พระราชเวที บรรณาธิการหนังสือ “พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์” ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ และเหตุผลในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
วัดโพธิ์เป็นศูนย์รวมพระพุทธรูปที่มีในประเทศไทยเกือบทุกยุคทุกสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากหัวเมืองต่างๆ ที่ถูกทิ้งร้างบ้าง ที่ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังบ้าง รวม 1,248 องค์ ลงมาบูรณปฏิสังขรณ์หล่อพระศอต่อพระเศียรพระหัตถ์พระบาทบ้าง แล้วประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ พระวิหารทิศ พระระเบียง พระวิหารคด ประมาณ 800 กว่าองค์ นอกนั้น พระราชทานให้เจ้านายขุนนางนำไปประดิษฐานตามวัดวาอารามอื่นๆ…
หนังสือ “พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์” เล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวข้างต้น วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำหนังสือพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์นี้นอกจากชี้ให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา คุณค่าที่สำคัญอันเก่าแก่แต่โบราณแล้ว ยังต้องการที่จะปลุกจิตสำนึกให้รู้จักรักษาสมบัติของชาติและพระพุทธศาสนาอันเป็นหน้าที่ที่ประชาชนคนไทยจะต้องช่วยกันรักษา…
ในปีพุทธศักราช 2555 นี้ ถือเป็นปีมงคลมีการฉลองพระพุทธชยันตี ครบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันวิสาขบูชา วันที่ 4 มิถุนายน 2555 และในส่วนของวัดพระเชตุพน จะจัดงานฉลองอายุ 96 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 จึงถือโอกาสจัดพิมพ์หนังสือพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสอันเป็นมงคลดังกล่าวข้างต้น…
หนังสือพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 บท คือ
บทที่ 1 พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ เรียบเรียงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ เนื้อหาในบทนี้กล่าวถึงประวัติของวัดพระเชตุพนตั้งแต่แรกสร้าง ที่มาของ พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ โดยแบ่งเป็นพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 1 ได้แก่ พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากหัวเมืองหรือพระอารามอื่น เช่น พระพุทธรูปที่เชิญมาจากเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) เมืองสุโขทัย และเมืองลพบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปของวัดโพธารามเดิม และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 3 และพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 4
บทที่ 2 พุทธศิลป์พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ เรียบเรียงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ในบทนี้เป็นการกล่าวถึงแนวคิดเรื่องพระพุทธปฏิมากับการเป็นรูปแทนพระพุทธองค์ พระพุทธรูปปางต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระพุทธปฏิมาสมัยต่างๆ ภายในวัดโพธิ์ โดยอธิบายถึงพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปของไทย คือ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี พระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย พระพุทธรูปศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทย พระพุทธรูปศิลปะหริภุญชัย พระพุทธรูปศิลปะล้านนา พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พระพุทธรูปศิลปะธนบุรี และพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์
บทที่ 3 พระพุทธปฏิมาสำคัญวัดโพธิ์ เรียบเรียงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง เนื้อหาในบทนี้กล่าวถึงประวัติที่มาและลักษณะทางพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปสำคัญในวัดพระเชตุพน คือ พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธโลกนาถ หรือพระโลกนาถ พระพุทธมารวิชัย หรือพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ พระพุทธชินราช หรือพระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร พระพุทธชินศรี หรือพระนาคปรก พระป่าเลไลย หรือพระปาลิไลย พระพุทธศาสดา พระประธานศาลาการเปรียญ พระพุทธไสยาส พระนอนวัดโพธิ์ พระศรีสรรเพชญ และพระพุทธเจดีย์ที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปประธานในพระวิหารทิศเหนือ มุขหลังพระพุทธรูปประธานในพระวิหารทิศใต้ มุขหลัง พระพุทธรูปประธานในพระวิหารทิศตะวันตก มุขหลัง พระพุทธรูปสำคัญในพระระเบียง พระพุทธรูปสำคัญในพระวิหารคด พระพุทธรูปสำคัญในพระระเบียงพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระพุทธรูปสำคัญในพระตำหนักวาสุกรี
บทที่ 4 จารึกฐานพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ เรียบเรียงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ และอาจารย์พอพล สุกใส เนื้อหาในบทนี้กล่าวถึงจารึกฐานพระพุทธปฏิมาเดิมสมัยสุโขทัย จารึกฐานพระพุทธปฏิมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งอักษรและอักขรวิธีในจารึกฐานพระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็นอักษรและอักขรวิธีที่ปรากฏในจารึกฐานพระพุทธปฏิมาเดิมสมัยสุโขทัย และอักษรและอักขรวิธีที่ปรากฏในจารึกฐานพระปฏิมาสมัยรัตนโกสินทร์ จากนั้นจึงเป็นคำอ่านจารึกฐานพระพุทธรูปในวัดพระเชตุพน คือ จารึกฐานพระพุทธรูปทิดไส จารึกฐานพระพุทธรูปผ้าขาวทอง จารึกฐานพระพุทธรูปพระเจ้าแสน จารึกฐานพระพุทธรูปพระนายคัมกอง จารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา จารึกฐานพระเจ้าตนนี้ และจารึกฐานพระพุทธรูปนายจอมเภรี ซึ่งค้นพบใหม่ในการศึกษาครั้งนี้ รวมทั้งจารึกพระนามพระพุทธรูปในศาลาการเปรียญและพระวิหารทิศซึ่งเป็นพระนามที่รัชกาลที่ 4 พระราชทาน
ด้วยเหตุนี้หนังสือ “พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์” จึงเป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจเพราะเป็นการศึกษาพระพุทธปฏิมาของวัดพระเชตุพนแบบสหวิทยาการ กล่าวคือเป็นการศึกษาทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และศิลาจารึก เพื่อให้ข้อมูลหลักฐานมีความครอบคลุมรอบด้าน นอกจากนี้ในท้ายเล่มยังมีแผนผังตำแหน่งพระพุทธรูปในพระระเบียง พระวิหารคด ฯลฯ ลงไว้เพื่อผู้สนใจสามารถนำมาใช้เป็นคู่มือในการศึกษาได้ด้วยตนเอง
หนังสือ “พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์” จึงน่าจะเป็นหนังสือสำหรับผู้สนใจไทยศึกษาอีกเล่มหนึ่งที่อาจช่วยให้เรามีความเข้าใจพระพุทธรูปสำคัญในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามได้อย่างชัดเจนและรอบด้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และศิลาจารึก
หนังสืออ้างอิง
พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง 2555.
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2555 – กุมภาพันธ์ 2556) หน้า 229-232)