อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
ประเด็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐในปัจจุบันที่คิดต่างกับชุมชน นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการพัฒนาที่ขาด “การเรียนรู้” ที่มาหรือรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชน ไม่เพียงจะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นในสังคมอันจะกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาต่อไป วารสารไทยศึกษาฉบับนี้จึงจะขอแนะนำหนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปีพุทธศักราช 2555 เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และรัชนีบูล ตังคณะสิงห์
หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในรากเหง้าและความเป็นมาของบ้านเมืองขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในเขตอีสานเหนือที่เรียกว่า “เมืองหนองหารหลวง” หรือ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นถิ่น “พุทธธรรม” เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของพระอริยสงฆ์สายพระป่าที่ใช้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นพื้นธรรม จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็น “มหาวนาสีแห่งภูพาน” หรือสำนักวัดป่าที่สำคัญของดินแดนแถบนี้
ในดินแดนบริเวณหนองหารนี้มีดอนหรือเกาะชัดเจนหลายแห่ง มีดอนที่ใหญ่ที่สุดและเต็มไปด้วยไม้หนาแน่นคือ “ดอนสวรรค์” ซึ่งพื้นที่ดอนสวรรค์นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชาวเมืองสกลนครที่เป็นที่นิยมกันในอดีต ขณะที่ต่อมาได้มีการประกาศจากราชการให้พื้นที่เดียวกันนี้เป็นที่วัดร้าง ตั้งแต่ พ.ศ.2472 กระทั่งต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2555 มีความพยายามจะออกโฉนดบนพื้นที่ดังกล่าว ภาคประชาชนในพื้นที่สกลนครจึงต้องออกมาคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค์ เพื่อรักษาสมบัติสาธารณะ (Commom property) ที่มีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงนิเวศและความหมายต่อชีวิตและสังคมของคนสกลนครทั้งปวง ส่งผลให้กลุ่มนักวิชาการในมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในมิติโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยให้ปรากฏการณ์ “รักษาบ้านเกิดเมืองนอน” ของชาวสกลนครในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่นของคนสกลนครเองและผู้สนใจ โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และในการเป็นเมืองโบราณที่เป็นถิ่นฐานอันเก่าแก่ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบอรัญวาสี เพื่อสืบทอดรากเหง้าและรักษาอัตลักษณ์ในความเป็นเมืองริมหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และถิ่นมั่นในพุทธธรรมให้คงอยู่ต่อไป
หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี แบ่งเนื้อหาเป็น 8 ตอน ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ส่วนคือ ส่วนแรกคือส่วนนำเรื่องให้ผู้อ่านเข้าในในบริบทของสถานการณ์และภาพรวมของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตอนที่ 1 “หนองหาร” แห่งสกลนคร บอกเล่าเรื่องราวเชิงกายภาพของพื้นที่หนองหาร ตลอดจนพัฒนาการของพื้นที่ในภาพรวมเพื่อให้เห็นถึงสายธารของการเปลี่ยนแปลงอันนำมาสู่การคิดต่างในเชิงบริหารจัดการพื้นที่ โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานข้อมูลเชิงสังคมวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ
ต่อมาเป็นส่วนที่ 2 คือส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ได้แก่ ตอน “แคว้นโบราณหนองหารหลวงและเมืองสกลนคร” ตอน “เมืองสกลนครโบราณในรัฐ “ศรีโคตรบูร” และตำนานอุนังคธาตุ” และ ตอน “ลำน้ำ ผู้คน และการตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำสงคราม” โดยเนื้อหาในส่วนที่ 2 นี้ได้เชื่อมโยงข้อมูลโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพื้นที่หนองหารสกลนคร ตั้งแต่สมัยยุคสำริด คือเมื่อราว 3,500 – 4,000 ปีก่อนปัจจุบัน จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อมูลดังกล่าวเน้นย้ำให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของมนุษย์บนผืนแผ่นดินแถบนี้มายาวนาน อันเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความหมายและความสำคัญของพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้น นักโบราณคดียังได้พบโบราณวัตถุหลายอย่างที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแถบนี้ รวมทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการเฟื่องฟูของยุคเหล็กในแอ่งสกลนคร อันเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยกับวัฒนธรรมซาหวิ่งห์ในตอนกลางประเทศเวียดนาม ขณะที่หลักฐานเชิงวรรณกรรมที่สำคัญในดินแดนแถบนี้คือ “ตำนานอุรังคธาตุ” หรือตำนานพระธาตุพนม ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหากัสสปะนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรี หรือ ภูกำพร้า อีกนัยหนึ่งคือพระธาตุพนม
ในตำนานอุรังคธาตุนี้ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่น ที่หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนมเป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ และทำนายการเกิดของนครเวียงจันทน์ สิ่งที่โดดเด่นและน่าสนใจประการหนึ่งในตำนานอุรังคธาตุคือการกล่าวถึงกำเนิดของแม่น้ำสำคัญๆ ตามลำน้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาคซึ่งแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยในหนองแสในเขตยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน นาคเหล่านั้นได้ทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิมล่องมาตามลำน้ำโขงทางใต้ ขุดควักพื้นดินทำให้เกิดแม่น้ำสายต่างๆ ขึ้น เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำงึม แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนหนังสือนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่นิยมกันมากในบรรดาบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่หนองแส ซึ่งเป็นตอนต้นน้ำในเขตยูนนาน ลงมาจนถึงเมืองเขมรตอนปากแม่น้ำโขงมีลัทธิเคารพบูชานาค นาคมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะเป็นบรรพบุรุษ ยิ่งไปกว่านั้น นาคยังเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองและความยุติธรรม ซึ่งผู้เขียนได้ตีความความหมายของนาคไว้อย่างน่าสนใจว่านาคมี 2 ลักษณะคือ นาคในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม และ นาคในลักษณะที่เป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนา
นอกจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้เขียนยังกล่าวถึง “แม่น้ำสงคราม” ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของพื้นที่บริเวณนี้ ผู้เขียนได้แบ่งลุ่มน้ำข้างต้นเป็น 2 พื้นที่ตามการก่อตัวเป็นชุมชน ได้แก่ ลุ่มน้ำสงครามตอนบน คือบริเวณที่ตั้งอยู่เทือกเขาภูพานลงมา ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร จนถึงอำเภอหนองหานและอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ต่อมาก่อกำเนิดเกิดเป็นชุมชนผ่านยุคสมัยต่างๆ กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มเมืองในบริเวณนี้และมีชื่อตามตำนานว่า “แคว้นศรีโคตรบูร” มีความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับหลวงพระบางอย่างต่อเนื่อง และลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านเหนือของอำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ลงไปจนถึงอำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร หรืออีกนัยหนึ่งคือบริเวณสองฝั่งลำน้ำสงครามจากบริเวณอำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ไปจนถึงอำเภอศรีสงครามและอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งการเกิดชุมชนในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างที่มีการสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการกวาดต้อนผู้คนที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งตามตระกูลภาษาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พวกไท-ลาว ได้แก่ โย้ย ย้อ และพวกมอญ ขะแมร์ ได้แก่พวกข่า โซ่ กะเลิง ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดบ้านเมืองร่วมสมัยกับทางลุ่มน้ำสงครามตอนบนขึ้นในจังหวัดนครพนมและสกลนครหลายแห่ง ซึ่งในหนังสือนี้ผู้เขียนได้เน้นย้ำให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีความหลากหลายในทางเผ่าพันธุ์แต่ก็ได้ผ่านบรูณาการทางวัฒนธรรมลาว คือมีการสร้างวัดทางพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งสิมและธาตุเป็นจุดศูนย์กลางในการทำพิธีกรรมและกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน มีระบบการถือผี เลี้ยงผีที่คล้ายคลึงกัน เช่น การนับถือศาลปู่ตา ศาลมเหสักข์ เป็นต้น
เนื้อหาของหนังสือส่วนที่ 3 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสกลนครกับพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสี ได้แก่ ตอนที่ 5 “ภูพานมหาวนาสี” และตอนที่ 6 “ภูผาศักดิ์สิทธิ์และอรัญวาสี” เนื้อหาในส่วนนี้ทำให้เห็นภาพของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะ “สำนักวัดป่า” หรือ “มหาวนาสี” ที่มีมาอย่างยาวนานของดินแดนแถบนี้ได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนโดยอาศัยหลักฐานเชิงโบราณคดีโดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ดินแดนแถบนี้เป็นที่เป็นที่ตั้งของสำนักวัดป่ามาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ทั้งนี้พิจารณาจากการสืบเนื่องของการเป็นแหล่งปฏิบัติทางสูญญตา การเน้น คาถาเย ธัมมา ซึ่งหมายถึงการรับรู้ในเรื่องอริยสัจสี่ และการสอนธรรมะด้วยมหานิบาตชาดก อันหมายถึงการพัฒนาจิตของพระโพธิสัตว์เจ้า ตั้งแต่อยู่ในระดับสัตว์เดรัจฉานจนถึงการเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากแหล่งพุทธสถานทวารวดีในยุคก่อนเช่นที่ ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ภูปอ ภูค่าว เมืองฟ้าแดดสงยางในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองกันทรวิชัย เมืองนครจัมปาศรีนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แหล่งเสมาหินที่กุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ ส่วนการที่เห็นว่าเป็นแหล่งพุทธสถานในยุคทวารวดี ก็เพราะรูปแบบทางศิลปะที่พบตามลักษณะพระพุทธรูป เทวรูป และลวดลายที่พบในแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ ล้วนได้รับอิทธิพลศิลปะขอมแต่สมัยปาปวนลงมาจนถึงสมัยบายน ขณะที่การสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยล้านช้าง ล้านนา นั้นเห็นได้จากการสร้าง “ตำนานอุรังคธาตุ” อธิบายความเป็นมาของพุทธสถานในครอบครองของพระเจ้าเลียบโลก และการสร้างรอยพระพุทธบาทให้เป็นที่สักการะและประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาลของผู้คน
การเป็นอารามในท่ามกลางป่าเขาที่ทำหน้าที่มาแต่ครั้งอดีต ส่งผลให้เกิดพระป่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บริเวณนี้ เนื่องจากจะเห็นว่าพระป่าสายอีสานก็ยังคงอาศัยป่าเขาโดยเฉพาะท้องถิ่นริมฝั่งโขงสร้าง “มหาวนาสี” ในที่อื่นๆ ต่อมาอีกมากมาย พระอริยสงฆ์ทางอีสานหลายรูป เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และศิษย์รุ่นต่อมาอย่างพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นศิษย์พระอริยสงฆ์สายอีสานผู้ตั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกายในอีสานในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก็มีฐานการปฏิบัติธรรม การออกธุดงค์อยู่รุกขมูล (โคนต้นไม้) วิปัสสนากรรมฐานตามแบบพระป่าในท้องถิ่นอีสานมาก่อนที่จะบวชอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ธรรมยุติกนิกายในภายหลัง ในประเด็นนี้ผู้เขียนจึงได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า
… พระป่าสายอีสานนั้นมิได้สืบทอดมาจากพระฝ่ายอรัญวาสีแบบลังกาวงศ์ที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้สืบสายพระสายวิปัสสนาธุระในธรรมยุติกนิกายที่เข้ามาสู่ดินแดนอีสานเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 หากแต่สืบเนื่องมากแต่ครั้งยังมีภูพานมหาวนาสีเมื่อพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่อีสานแต่เริ่มแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และเป็นการสืบทอดพระสายวิปัสสนาธุระแห่งอรัญวาสีที่เก่าแก่และต่อเนื่องยาวนานที่สุด โดยมิได้รับตกทอดมาจากแห่งใด (หน้า 39)
เนื้อหาในส่วนสุดท้ายของหนังสือบอกเล่าวิถีชีวิตและความหมายเชิงวัฒนธรรมของชาวสกลนครกับหนองหารผ่านภาพถ่ายที่เป็นเสมือนมรดกความทรงจำที่มีต่อพื้นที่นี้ไว้ในตอนที่ 7 “ภาพถ่ายแห่งความทรงจำจากหนองหาร : “เรือนางคำไหล” ชนะที่ 1 ในงานออกพรรษา พ.ศ.2482 หนองหารสกลนคร คณะท่าวัด” และตอนที่ 8 "เมืองสกลนครจากภาพถ่ายของพระดุลยภาณสรประจักษ์ (บุญมาก ตังคณะสิงห์) ช่วงที่ปฏิบัติงานเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ณ เมืองสกลนครระหว่าง พ.ศ.2477-2489” ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เห็นแง่มุมของวิถีชีวิตชาวสกลนครในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด ทั้งภาพถ่ายประเพณีการแข่งเรือ ภาพถ่ายของข้าราชการเมือง ภาพถ่ายงานและกิจกรรมสำคัญของชุมชน
หนังสือ เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี ได้ย้อนภาพอดีตของเมืองหนองหารหลวง หรือจังหวัดสกลนครได้อย่างเด่นชัด ด้วยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ผนวกกับการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่จึงทำให้เป็นผลงานวิชาการที่น่าสนใจและเป็นคลังความรู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในวงวิชาการ นับเป็นหนังสือที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่งที่เหมาะแก่ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในแอ่งอารยธรรมอีสาน นักวิชาการด้านพุทธศาสนศึกษา ตลอดจนนักคติชนวิทยาและนักมานุษยวิทยาศาสนา
บรรณานุกรม
ศรีศักร วัลลิโภดม วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และรัชนีบูล ตังคณะสิงห์. เมืองหนองหารหลวง และภูพานมหาวนาสี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2555
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2557) หน้า 127-133)