นภัส ขวัญเมือง
บทคัดย่อ
พระอารามที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทั้งสิ้น ๖ พระอารามด้วยกันคือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสัตนารถปริวัตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดอัษฎางคนิมิตร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม บทความนี้นำเสนอถึงความสำคัญของอาคารหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในวัดอัษฎางคนิมิตร ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานสูง โดยพื้นที่ในชั้นฐานสูงนี้ถูกใช้งานเป็นอุโบสถ แสดงให้เห็นว่าเป็นการรวมอาคารเจดีย์ และอาคารอุโบสถเข้าไว้ในอาคารหลังเดียวกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “อุโบสถเจดีย์” เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มูลเหตุของการเกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมอุโบสถเจดีย์นั้น เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเกิดขึ้นจากพัฒนาการของการใช้พื้นที่ภายในเจดีย์ โดยปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการใช้พื้นที่ภายในคือโครงสร้างของอาคาร ซึ่งอุโบสถเจดีย์วัดอัษฎางคนิมิตร ได้นำเอาวิทยาการโครงสร้างแบบตะวันตกมาผนวกกับรูปทรงอาคารแบบเจดีย์ จึงสามารถใช้งานพื้นที่ภายในเจดีย์ (เป็นอุโบสถ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่งซึ่งอาจเป็นมูลเหตุของการเกิดอุโบสถเจดีย์คือ พัฒนาการของความพยายามในการรวมอาคารอุโบสถและเจดีย์ไว้เป็นอาคารเดียวกัน โดยเริ่มสังเกตถึงความพยายามนี้ได้ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กไว้ภายในหอสูงของอาคารอุโบสถอันแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงที่ตั้งอาคารอุโบสถและเจดีย์ ซึ่งปกติจะแยกเป็นอิสระจากกัน พัฒนามาสู่ตัวอาคารที่วางตัวประชิดกันทางด้านข้าง และสุดท้ายพัฒนาสู่การผสานรูปทรงตัวอาคารเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยการวางตัวอาคารซ้อนกันโดยมีพระเจดีย์เทินอยู่ด้านบนอาคารอุโบสถ ดังปรากฏที่อุโบสถเจดีย์วัดอัษฎางคนิมิตร
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2556 – มกราคม 2557) หน้า 41-71)
The Pagoda-Hall : A New Form of Buddhist Architecture in the Reign of King Rama V
Napat Kwanmuang
Abstract
Six royal temples were ordered to be built during the reign of King Rama V: Ratchabopitsahtimahasimaram Temple, Sattanatpariwat Temple, Dhebsirin Temple, Niwetdhammaprawat Temple, Aatsadangnimit Temple, and Benjamabopitdusitwanaram Temple.
The study focused only on the main hall of Aatsadangnimit Temple, which was built in a bell-shaped with a high base. The base functions as a hall for Buddhist ceremonies. Therefore, the structure is the combination of a pagoda and a hall and is referred to as a ‘Pagoda-Hall’. This style never existed before the reign of King Rama V.
The reason for constructing the pagoda-hall was to maximize space utilization in the pagoda. The pagoda-hall adopted Western-style construction in order to do so. There had been previous efforts to combine a hall and pagoda in a single building. An example of this is the hall of Niwetdhammaprawat Temple, where a small bell-shaped pagoda is placed in a platform in the hall.
Usually temple complexes include a hall and a pagoda that are built separately. However, as temple architecture evolved, these two structures began to share side walls, and finally were constructed as a single building by placing the base of the pagoda on top of the hall as illustrated in the pagoda-hall at Aatsadangnimit Temple.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 9 Number 2 (August 2013 – January 2014) Page 41-71)
บทความ / Full Text : Download