วารสารไทยศึกษา - ปีที่ 8 ฉบับที่ 1
1) ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อ บ้านไม้ลุงขน อ.แม่สาย จ.เชียงราย : การสืบทอดและพลวัตภายใต้บริบทใหม่ / อัมพิกา ยะคำป้อ
2) การดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีล : การผสมผสานความเชื่อดั่งเดิมและพุทธศาสนาในพิธีกรรมปัจจบัน / พิมพ์นภัส จันดาวงศ์
3) อารักษ์บ้าน-อารักษ์เมือง การดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในวิถีชีวิตไทย-ไทในปัจจุบัน / ศิราพร ณ ถลาง
4) งานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ : สัญลักษณ์ในพิธีกรรมประดิษฐ์จากคัมภีร์ใบลาน / พิเภก เมืองหลวง
5) การสืบทอดอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ “ชอง” ผ่านพิธี “ส่งในบ้าน” ของชาวชอง บ้านทุ่งไก่ดัก อ.เมือง จ.ตราด / อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
แนะนำหนังสือ
“ตำนานพระพุทธรูปล้านนา : พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น” / อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อ บ้านไม้ลุงขน อ.แม่สาย จ.เชียงราย : การสืบทอดและพลวัตภายใต้บริบทใหม่
อัมพิกา ยะคำป้อ
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตและบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่า พิธีที่สำคัญที่เกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อมี 3 พิธี คือ พิธีเลี้ยงเจหรืองานประจำปีศาลเจ้าพ่อคำแดง พิธีส่งเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้าน และพิธีเลี้ยงเมือง พิธีกรรมทั้ง 3 พิธีนี้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความเชื่อเรื่อง ผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อ ขณะเดียวกันความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์บ้านก็มีพลวัต คือ การย้ายศาลอารักษ์บ้านตามธรรมเนียมการตั้งศาลแต่เดิมที่เอาไว้ท้ายหมู่บ้านมาตั้งใหม่ใจกลางหมู่บ้านเพื่อให้อยู่ในที่ที่สะดวกต่อการเซ่นสรวงบูชา การยอมรับเอาชื่อผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่และผีอารักษ์เมืองจากสิบสองปันนาเป็นผีอารักษ์บ้าน การเซ่นสรวงบูชาอารักษ์บ้านด้วยอาหารมังสวิรัติ และธรรมเนียมการปฏิบัติตนของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นพลวัตของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อ เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริบทใหม่ คือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ก็มีการยอมรับ และปรับวัฒนธรรมของชาวไทยวนเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 1-18)
Dynamism and Role of the Village Guardian Spirit Belief and Ritual in Ban Mai Lung Khon, Mae Sai District, Chiangrai Province
Ampika Yakhampor
Abstract
This paper aims to study the dynamism and role of the village guardian spirit belief and ritual of the Tai Lue people in Ban Mai Lung Khon, Mae Sai District, Chiangrai Province. The research found that there are three important village guardian spirit rituals in this Tai Lue village: the annual worship of Chao Poh Kham Daeng; the Song Kroh Ban ritual; and Liang Mueang, village guardian spirit ritual. Although the three rituals reflect the transmission of Tai Lue belief in guardian spirits, the study found a certain dynamism in the belief and the rituals. Firstly, there was a physical dynamism in the changing of the location of the village guardian spirit shrine’s from the end of the village to the village center to provide for easier access for the people to the sacred space. Secondly, the name of the northern Thai city guardian spirit and the name of the Sip Song Panna city guardian spirit, Chao Poh Kham Daeng, was adopted to be the name of the Ban Mai Lung Khon village guardian spirit. Moreover, certain components of the ritual were changed to correspond with the change of the village’s social context. Overall, the analysis identifies the dynamism and role of the belief and ritual of the Tai Lue village guardian spirit in the new social context at Mae Sai, Chiangrai, Thailand, particularly the adoption of northern Thai beliefs as integrated with Tai Lue traditional beliefs.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 8 Number 1 (February – July 2012) Page 1-18)
บทความ / Full Text : Download
การดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีล : การผสมผสานความเชื่อดั่งเดิมและพุทธศาสนาในพิธีกรรมปัจจบัน
พิมพ์นภัส จันดาวงศ์
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่ของพิธี บูชาเสาอินทขีลในปัจจุบันซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาอารักษ์เมือง เชียงใหม่ที่สืบทอดมาแต่อดีต เพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะการผสมผสานของความเชื่อ ดั้งเดิมกับพุทธศาสนาที่ปรากฏในพิธีกรรมทั้งในระดับรูปธรรมคือ ส่วนที่สามารถมอง เห็นได้ เช่น พื้นที่ เครื่องสักการะ การแสดงในพิธี ฯลฯ และในระดับนามธรรม คือ
ความเชื่อ การให้คุณค่า ความหมาย ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม พุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะของการแทรกซึมรวมเข้าไปกับความเชื่อดั้งเดิม จนทำให้การแสดงออกในพิธีบูชาเสาอินทขีลมีลักษณะของพิธีกรรมทางพุทธศาสนามากกว่า ส่วนความเชื่อดั้งเดิมซึ่ง ถือว่าเป็นรากเหง้าของพิธีนั้น บางส่วนได้ถูกพุทธศาสนาเข้าไปสวมทับในเชิงความหมาย แต่บางส่วนยังคงมีความสำคัญและได้รับการสืบทอดมาในสังคมปัจจุบัน
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 19-39)
The Persistence of Inthakin Pillar Worship : The Integration between Indigenous Belief and Buddhism in Present Day Rituals
Pimnaphat Jindawong
Abstract
This paper aims at examining and analyzing the persistence of Inthakin pillar worship, which today has become one of the rituals performed in connection with the worship of the Chiangmai city guardian spirits. The analysis identifies the characteristics of religious integration between indigenous belief and Buddhism from both concrete components, such as ritual space, ritual offerings, ritual performance, and abstract components, such as belief, social value, and ritual meaning. The research reveals that with respect to both components, more and more of a Buddhist element has been inserted into the Inthakin pillar worship such that the ritual performance is now presented as a Buddhist ritual. The indigenous belief in the city pillar, which was the origin of the ritual, has now been partially replaced in its meaning by Buddhism, leaving only a certain role and meaning of the indigenous belief to persistent in the ritual.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 8 Number 1 (February – July 2012) Page 19-39)
บทความ / Full Text : Download
อารักษ์บ้าน-อารักษ์เมือง การดำรงอยู่ของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในวิถีชีวิตไทย-ไทในปัจจุบัน
ศิราพร ณ ถลาง
บทคัดย่อ
ความเชื่อเกี่ยวกับผีอารักษ์เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทและชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อนำเสนอบทสังเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในสังคมไทยปัจจุบันจากกรณีศึกษา 2 กรณี คือ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์เมืองเชียงใหม่ ผลจากการสังเคราะห์ข้อค้นพบที่สอดคล้องกันจากทั้งสองกรณีศึกษาเป็นประเด็นเรื่องพลวัตและการผสมผสานทางความเชื่อและพิธีกรรมระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชาวไทลื้อกับชาวไทยวนล้านนา และระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์กับพุทธศาสนา นอกจากนั้น ทั้งสองกรณีศึกษายืนยันว่าความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ยังคงมีบทบาททางจิตใจและบทบาททางสังคม
ประการที่ 2 บทความนี้นำเสนอบทอภิปรายอันเป็นข้อสังเกตจากภาคสนามของผู้เขียนที่ได้เห็นปรากฏการณ์ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในดินแดนชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ในหลายแง่มุม ทั้งในฐานะความเชื่อดั้งเดิม ทั้งปรากฏการณ์ทางความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ที่มีการผนวกรวมกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและผีวีรบุรุษ และปรากฏการณ์การใช้ผีอารักษ์ในฐานะเป็นสื่อแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในบริบททางสังคมไทยในปัจจุบัน
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 41-68)
Persistence of Belief and Ritual Concerning Guardian Spirits in Current Thai-Tai Societies
Siraporn Nathalang
Abstract
The belief in guardian or territorial spirits is a kind of indigenous belief of Tai speaking people and other ethnic groups in Southeast Asia. This paper has two objectives. The first objective is to synthesize the persistence of belief and ritual concerning guardian spirits in the present-day context of Thai society from two case studies. The first case study is the study of the village guardian spirits at Ban Mai Lung Khon, Mae Sai District, Chiangrai Province and the second is the study of the Chiangmai city guardian spirit. The two case studies reveal common findings regarding the dynamism and the syncretism of the belief in guardian spirits. The dynamistic aspect in the first case study concerns the integration of the guardian spirit belief of the Tai Lue, newcomers from Sipsongpanna who settled in Ban Mai Lung Khon, and that of the Tai Yuan, the local northern Thai people. The second case study reveals the syncretistic aspect of the integration between an indigenous belief in guardian spirits and Buddhism.
The second objective of this paper is to present an extended discussion concerning the persistence and the dynamism of guardian spirit belief in Thai and Tai societies with respect to several aspects from the observation of the author’s field experience in Tai speaking societies: guardian spirits as Tai indigenous beliefs; the current phenomena of the integration between guardian and ancestral spirits and the spirits of the local heroes in several cases in Thai-Tai societies; and the use of guardian spirit shrines as an expression of Tai ethnic identity in the social context of present-day Thailand.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 8 Number 1 (February – July 2012) Page 41-68)
บทความ / Full Text : Download
งานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ : สัญลักษณ์ในพิธีกรรมประดิษฐ์จากคัมภีร์ใบลาน
พิเภก เมืองหลวง
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษามโนทัศน์ (Concept) และสัญลักษณ์ (symbol) ในการสร้างพิธีกรรมในงานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ที่บ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ผลการศึกษาพบว่างานบุญดังกล่าวเป็นพิธีกรรมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ ความคิด ความเชื่อที่หลากหลายจากคัมภีร์ใบลานเรื่องแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์มาสร้างพิธีกรรมและสร้างบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในพิธี คัมภีร์ใบลานจึงไม่ได้เป็นเพียงตัวบท (Text) ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของการสร้างมโนทัศน์ในการประดิษฐ์พิธีกรรม ทั้งการจัดแต่งเครื่องประกอบพิธี การปฏิบัติตนในพิธี นอกจากนี้คัมภีร์ใบลานยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์สองประการคือ เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 69-86)
The Merit-Making of 84,000 Dharma: Symbols in the Invented Ritual from a Buddhist Palm Leaf Manuscript
Piphek Muangluang
Abstract
This paper aims at studying the concept and symbols in Bun Paed Muen Siphan Khan at Tha Muang Village, Selaphum District, Roi-Et province. The study indicates that Bun Paed Muen Siphan Khan is an invented ritual based on the knowledge, the thoughts and the Buddhist belief from the Buddhist palm leaf manuscript entitled, Paed Muen Siphan Khan. The palm leaf manuscript is not only the text recited, in the ritual, but also the source of the concepts in inventing the ritual objects and the ritual acts performed in this new Buddhist ritual. Moreover, this Buddhist palm leaf manuscript provides a symbolic meaning in the sense that it is the symbol of virtue and sacredness of Buddhism.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 8 Number 1 (February – July 2012) Page 69-86)
บทความ / Full Text : Download
การสืบทอดอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ "ชอง" ผ่านพิธี "ส่งในบ้าน" ของชาวชอง บ้านทุ่งไก่ดัก อ.เมือง จ.ตราด
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชองในจังหวัดตราด โดยใช้กรณีศึกษาจากพิธีส่งในบ้านของชาวชอง บ้านทุ่งไก่ดัก ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มชาติพันธ์ชอง เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองตราดมานับแต่อดีต มีหลักฐานปรากฏนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมา มีพิธีกรรมที่สำคัญพิธีหนึ่งเรียกว่า “บุญส่ง” หรือ “ส่งในบ้าน” เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อเช่นสรวงผีบรรพบุรุษ ซึ่งผู้วิจัยพบว่า พิธีกรรมนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดทอดอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชองในจังหวัดตราดอย่างชัดเจน ทั้ง 1) การสืบทอดอัตลักษณ์ผ่านพิธีเลี้ยงผี ที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างชาวชองกับผีบรรพบุรุษ 2) การสืบทอดอัตลักษณ์ผ่านพิธีเชิญผีสัตว์ป่า ที่แสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างชาวชองกับป่า 3) การสืบทอดอัตลักษณ์ผ่านพิธีรบกับผี ที่เป็นการผลิตซ้ำเรื่องเล่าสงครามในกลุ่มชอง และ 4) การสืบทอด อัตลักษณ์ผ่านพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ที่เป็นการประกาศอาณาเขตชาวชอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการธำรงรักษา “ความเป็นชอง” ไว้ ขณะเดียวกันก็เป็นสายใยผูกพันลูกหลานชาวชองในปัจจุบันให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 87-124)
The Maintenance of Identity of the “Chong” Ethnic Group: A Case Study from Song Nai Ban Ritual in Ban Thung Kai Dak, Amphoe Mueang, Trat Province
Aphilak Kasempholkoon
Abstract
This paper aims at examining the maintenance of the identity of the “Chong” ethnic group in Trat province in the Song Nai Ban Ritual at Ban Thung Kai Dak, Amphoe Mueang. The study reveals that the Chong, an ethnic group in Trat Province, has a significant ritual called “Bun Song” or “Song Nai Ban”, a spirit worshiping ritual that shows the Chong’s maintenance of identity in the following aspects: 1) the spirit food offering that indicates the relationship between the Chong and their ancestors; 2) the summonsing of wild animal spirits that expresses the relationship between the Chong and the forest; 3) the battle with spirits that reproduces the Chong’s narratives of war; and 4) the ritual space and the Chong’s territorial declaration. All of these aspects bring about an attempt to maintain the Chong’s identity and their harmonious engagement with the generation of today.
(Published in Journal of Thai Studies Volume 8 Number 1 (February – July 2012) Page 87-124)
บทความ / Full Text : Download
แนะนำหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปล้านนา : พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น"
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
หนังสือ “ตำนานพระพุทธรูปล้านนา: พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น” เล่มนี้ตีพิมพ์มาจากผลงานวิจัยที่ใช้ชื่อเรื่องเดียวกันของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในชุดโครงการวิจัย “วรรณกรรมล้านนา: ลักษณะเด่นภูมิปัญญา และคุณค่า” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าโครงการ งานวิจัยดังกล่าวผู้วิจัยได้รวบรวมค้นคว้าข้อมูล ตลอดจนวิเคราะห์อย่างละเอียดลึกซึ้ง จนส่งผลให้งานวิจัยเล่มนี้ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2553
ความดีเด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ การรวบรวมตำนานพระพุทธรูปสำคัญในดินแดนล้านนา อันประกอบไปด้วย ตำนานพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน ทั้งที่เป็นตำนานของกลุ่มชนชาวล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมตำนานพระพุทธรูปไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตำนานของพระพุทธรูปองค์ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ พระแก้วดอนเต้า วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง และตำนานของพระพุทธรูปองค์ที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนักสำหรับคนในท้องถิ่นอื่นๆ เช่น พระเจ้าบอกเกลือ วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน พราอะลอง (ภาษาไทใหญ่ แปลว่าพระพุทธรูปทรงเครื่อง) วัดหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพรวมของตำนานพระพุทธรูปล้านนา อันมีทั้งลักษณะร่วมในความเป็นวัฒนธรรมล้านนา และลักษณะเฉพาะของแต่ละเรื่อง แต่ละวัตถุประสงค์การสื่อความได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่ตำนานพระพุทธรูปล้านนาจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจศึกษาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลในทางสังคมวัฒนธรรมอยู่แล้วเท่านั้น หากผู้เขียนซึ่งเป็น “นักคติชน” ก็ยังสามารถเจียระไนข้อมูลให้เห็น “เหลี่ยมมุม” ที่น่าสนใจอันแฝงเร้นอยู่ในเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ประเภทดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้เขียนใช้วิธีวิทยาการศึกษาอนุภาค การศึกษาบทบาทหน้าที่ของคติชน ตลอดจนวิธีคิดแบบ “คู่ตรงข้าม” (binary opposition) ที่ปรากฏอยู่อย่างโดดเด่นในตำนานพระพุทธรูปแต่ละองค์ในฐานะ “สัญลักษณ์” ซึ่งสื่อความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชนเจ้าของตำนาน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นคนในชุมชนที่พระพุทธรูปนั้นๆ ประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตำนานที่มีเนื้อหาโดดเด่นชัดเจน
สำหรับวิธีวิทยาการศึกษาอนุภาค ผู้เขียนเริ่มต้นจากการวิเคราะห์อิริยาบทของพระพุทธรูปซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียง “ปางพระพุทธรูป”ตามรายละเอียดในเรื่องเล่าประเภทพุทธประวัติเท่านั้น แต่กลับแฝงความคิดเชิงสังคมวัฒนธรรมแบบล้านนาไว้ได้อย่างแนบเนียน กล่าวคือ อิริยาบทนั่ง โดยเฉพาะ ตำนานพระเจ้านั่งดิน วัดพระเจ้านั่งดิน จังหวัดพะเยา สื่อความหมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินล้านนา รวมถึงการกลมกลืนความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาจนกลาย “พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน” อิริยาบทยืน มักเชื่อมโยงกับความคิดความเชื่อที่ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาในดินแดนล้านนา แล้วให้พุทธพยากรณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองในแถบนี้ไว้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ซึ่งตำนานประเภทนี้หลายเรื่องที่สัมพันธ์กับการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบทยืน อาทิ พระยืน วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พะพุทธเจ้าประทับยืนทอดพระเนตรแหล่งน้ำ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธรูปกับความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (fertility)
ส่วนพระพุทธรูปยืน 4 ทิศ นอกจากจะมาจากคตเรื่องพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ไปแล้ว 4 พระองค์ในภัทรกัปป์นี้ แต่ยังแฝงความคิดเรื่องการบูชา “ท้าวทั้งสี่” หรือท้าวจตุโลกบาลในวัฒนธรรมล้านนา อิริยาบทเดิน แม้ไม่ค่อยปรากฏพระพุทธรูปในอิริยาบทนี้โดยตรง แต่ตำนานพระพุทธรูป เช่น ตำนานพระเจ้าวัดไผ่เหลือง จังหวัดน่าน ตำนานพระนอนถ้ำดับเตา ถ้ำหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนตำนานพระธาตุหลายตำนานได้กล่าวถึงการที่พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดชนกลุ่มต่างๆ ในดินแดนล้านนา อันสื่อถึงการที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนนี้ และร้อยรัดกลุ่มชนทุกชาติพันธุ์ ทุกฐานะ ไว้ภายใต้ความเชื่อเดียวกัน ตลอดจนฉายภาพผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน อิริยาบทกิน โดยเฉพาะตำนานพระเจ้าบอกเกลือ จังหวัดลำพูน สะท้อนร่องรอยความคิดความเชื่อเรื่อง “อาหารกับอำนาจ” และ “สีกับอำนาจ”ผ่านอนุภาค “เกลือ” และ “สีแดง”อันมีความสัมพันธ์ในพิธีกรรมเลี้ยงผีเจ้านายในสังคมล้านนาแต่โบราณ อิริยาบทนอน ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ที่มีพระพุทธรูปในอิริยาบทนอน เช่น พระนอนม่อนช้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน นอกจากจะเป็นชุมชนมาแต่เดิม เป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ หรือเชื่อว่ามีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่แล้ว บางแห่งยังเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับที่อยู่ของผีอารักษ์เดิม ทำให้สามารถเชื่อมโยงความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปเข้ากับความคิดเรื่องอารักษ์หรือผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงปกป้องรักษาที่นาในวัฒนธรรมล้านนาได้ อริยาบทเหาะ เช่น ตำนานพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ยังเป็นร่องรอยความคิดความเชื่อเรื่อง “ผู้มีบุญ” ที่เหาะลงมาจากสวรรค์ที่มักปรากฏในตำนานล้านนา
นอกเหนือจากอิริยาบทของพระพุทธรูปแล้ว ผู้เขียนยังวิเคราะห์พุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่ปรากฏผ่านตำนานในฐานะอนุภาคสำคัญ อันได้แก่ พระรัศมี ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการแสดงพระบุญญาธิการของพระพุทธองค์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในตำนาน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แฝงความคิดเรื่องบุญญาบารมีของชนชั้นปกครองผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นั้นๆ พระเศียร สัมพันธ์กับความคิดเรื่องน้ำและความอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องกับการพบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระเศียรพระพุทธรูปบางองค์ อาทิ พระเจ้าอุ่นเมือง วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน และลักษณะเฉพาะถิ่นของพระพุทธรูปล้านนาที่มักมีพระเศียรคล้ายผลน้ำเต้า ซึ่งเป็นพืชสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมไท-ไทย พระพักตร์ สื่อถึงความคิดเรื่องความงามอันเป็นอุดมคติ บริสุทธิ์และสูงส่ง พ้นจาก “ความเป็นชาย-ความเป็นหญิง” ที่เป็นคู่ตรงข้ามที่พบได้บ่อยในตำนานศาสนา พระเนตร โดยเฉพาะตำนานพระเจ้าตาเขียว วัดบ้านเหล่า จังหวัดลำพูน ยังมีร่องรอยความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ปรากฏอยู่ ส่วนพระวรกาย มีที่มาจากความคิดเรื่องพุทธลักษณะอันงดงามยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเช่นในกรณีของพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา
นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ประยุกต์วิธีวิทยาการศึกษาอนุภาคและการศึกษาบทบาทหน้าที่ทางคติชนเข้าด้วยกัน ด้วยการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของตำนานพระพุทธรูปผ่าน “หน้าที่ของพระพุทธรูป” และอิทธิฤทธิ์ที่ปรากฏในตำนาน ในประเด็นเรื่องหน้าที่ของพระพุทธรูปนั้น พระมิ่งเมือง เช่น พระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงถึงทั้งร่องรอยและการปรับประยุกต์ความคิดเรื่อง “มิ่งเมือง/หมายเมือง” อันเป็นความคิดความเชื่อเดิมของกลุ่มชนไทย-ไท เข้ากับความคิดความเชื่อทางพระพุทธศาสนาซึ่งได้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “หลัก”ของบ้านเมืองแว่นแคว้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ “ยกระดับ”ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่านี้ให้กลืนกลายกับพุทธศาสนา อาทิ พระนอนหนองผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ความคิดเรื่องพระมิ่งเมืองยังนำไปสู่การจัดสร้าง “พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง”ตามคตินิยมสมัยใหม่ ในกรณีของพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนี วัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่ รวมถึงยังคงเป็นร่องรอยของการให้ความสำคัญกับฝนฟ้าและความอุดมสมบูรณ์ที่สัมพันธ์กับความเจริญของเมือง พระประจำเจ้านาย เช่น พระค่าคิงเม็งราย วัดพระเจ้าเม็งราย จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนความคิดเรื่องขวัญ ความพยายามในการประกอบสร้างตัวตนผ่านวัตถุศักดิ์สิทธิ์ และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับพุทธศาสนาที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่ง พระบรรจุพระบรมธาตุ เป็นการสร้างความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องระหว่างวัตถุที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก อันได้แก่ พระบรมธาตุ กับวัตถุที่เป็นรูปธรรม อันได้แก่พระพุทธรูป ตลอดจนความ คิดความเชื่อเรื่องขวัญที่สัมพันธ์กับตำแหน่งการบรรจุพระบรมธาตุภายในพระพุทธรูปแต่ละองค์ พระครอบพระพุทธบาท เป็นทั้งรูปธรรมของการสร้างอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ตามความคิดคู่ตรงข้ามระหว่างโลกสามัญกับโลกศักดิ์สิทธิ์ และหากพิจารณาในฐานะที่รอยพระพุทธบาทเป็น “แหล่งกักเก็บน้ำ”พระพุทธรูปคร่อมรอยพระพุทธบาทยังสะท้อนถึง “ตัวตน”ของพระพุทธเจ้าในฐานะ “ผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์”ในคติแบบล้านนา พระบันดาลน้ำบันดาลฝน เป็นการผสมผสานความคิดความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความคิดเรื่องผี (ผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์) และคติทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน พระทำนายและพยากรณ์ แสดงความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นระหว่างพระพุทธรูปกับชุมชน เนื่องด้วยพุทธศาสนาเองก็มีบทบาทในการควบคุมสังคม
ส่วนในประเด็นเรื่อง ที่มา สล่า (ช่าง) และ สมญานาม ของพระพุทธรูป ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นความหลากหลายของที่มาของพระพุทธรูปตามตำนานว่า ในแง่หนึ่งตำนานอาจกล่าวถึงตำนานที่เล่าว่าพระพุทธรูปมาจากลังกา ตัวอย่างที่สำคัญก็เช่นพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความคิดเรื่อง “ความบริสุทธิ์แท้จริง” (authenticity) ของ “พระพุทธศาสนาสายตรง” จากลังกา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สล่าพื้นบ้านก็สามารถรังสรรค์พระพุทธรูป “ของล้านนา”ได้เช่นเดียวกัน ในแง่นี้ตำนานที่มาของพระพุทธรูปและเรื่องเล่าเกี่ยวกับสล่าผู้สร้างพระพุทธรูปจึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงทางพุทธศาสนา และความรุ่มรวยทางอารยธรรม-
ศีลธรรม ของดินแดนล้านนา
อนึ่ง หลายตำนานยังกล่าวถึงพระพุทธรูปที่ไม่สามารถสร้างสำเร็จได้โดยฝีมือมนุษย์ พระอินทร์จึงต้องจำแลงเป็นสล่ามาเพื่อช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ตำนานลักษณะนี้เป็นทั้งความพยายามในการอธิบายว่า เหตุใดพระพุทธรูปองค์ที่ถูกกล่าวถึงในตำนานจึงมีพุทธลักษณะงดงามเป็นพิเศษ และความพยายามในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระพุทธรูปในฐานะ “วัตถุศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งสร้างโดย “สิ่งศักดิ์สิทธิ์"
ยิ่งไปกว่านั้น ในประเด็นเรื่องการตั้งสมญานามให้แก่พระพุทธรูป ผู้เขียนยังพิจารณาว่าความคิดเรื่องความศักด์สิทธิ์ของพระพุทธรูป รวมถึงการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับพุทธศาสนา ยังส่งผลต่อการตั้งสมญานามให้มี “ลักษณะเฉพาะ” พระพุทธรูปองค์หนึ่งๆ จึงแตกต่างจากองค์อื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นเสมือน “เทพเจ้าท้องถิ่น”สำหรับกลุ่มชนที่เคารพบูชาพระพุทธรูปองค์นั้นๆ
ในท้ายที่สุด ผู้เขียนได้ประยุกต์การศึกษาบทบาทหน้าที่ของคติชนเข้ากับแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ของชนชาติไท ของเอ็ดมันด์ อาร์ ลีช (Edmond R. Leach) ในการศึกษาบทบาทหน้าที่ของตำนานพระพุทธรูปล้านนา เพื่อให้เห็นถึง “พลัง”ของปัญญาความเชื่อที่ปรากฏผ่านตำนานพระพุทธรูปที่มีความสำคัญต่อ “ความเป็นท้องถิ่น” ของสังคมล้านนา โดยชี้ให้เห็นว่าตำนานพระพุทธรูปบางตำนาน เช่น ตำนานพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา ตำนานพระเสตังมณี วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกร่องรอยการเคลื่อนย้ายและภูมิปัญญาการเลือกทำเลที่ตั้งชุมชนจาก “แหล่งน้ำ”เป็นสำคัญ รวมถึงสะท้อนวีถีชีวิตในระบบ “เจ้าฟ้า”ผ่านตำนานที่กล่าวถึงกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธรูปในประการต่างๆ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพยายาม “ถอดรหัส” ทัศนคติที่คนล้านนามีต่อพุทธศาสนา ต่อสังคม และต่อชีวิต กล่าวคือ พุทธศาสนาแบบล้านนาที่สะท้อนผ่านตำนานพระพุทธรูปนั้น แน่นอนว่าย่อมมีลักษณะเป็น “พุทธศาสนาแบบไทย” ที่ดำรงอยู่ควบคู่ไปกับความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความเชื่อเรื่องผี ตลอดจนมีความเชื่อเรื่อง “พหุพุทธะ” ทั้งนี้ทั้งนั้นชาวล้านนายังมีทัศนคติว่า พระพุทธรูปคือตัวแทนของพระพุทธเจ้าในแง่ “ร่างกาย” นำมาสู่ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติบูชาพระพุทธรูปเสมือนหนึ่งมีชีวิต และทัศนคติเรื่องเพศสภาวะบนพื้นฐานของระบบคิดแบบคู่ตรงข้าม คือ “เพศชาย-โลกุตตระ” ที่ตรงกันข้ามกับ “เพศหญิง-โลกียะ” ที่สังเคราะห์ได้จากบทบาทตัวละครในตำนานพระพุทธรูปอีกด้วย
งานวิจัยเรื่องนี้จึงนับได้ว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในแวดวงไทยศึกษา เพราะไม่เพียงจะให้ความรู้ และแนวทางการวิเคราะห์แก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์งานวิจัยต่อไปได้ในอนาคต
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2555) หน้า 125-131)